แพ้อาหาร

แฟ้มภาพ

                  หลายๆ ครั้งความสำคัญในครอบครัวกลับมีอันต้องเปลี่ยนเป็นความชุลมุนวุ่นวายแทนเมื่อสมาชิกครอบครัวคนใดคนหนึ่งเกิดมีอันต้อง “แพ้อาหาร” ขึ้นมา แล้วอย่างนี้คุณๆ ซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดจะทำอย่างไรกันดี

‘แพ้อาหาร’ คืออย่างไร

ถ้าเมื่อใดที่เกิดการแพ้อาหารขึ้น คุณสามารถจะรู้สึกเกือบทันทีเลยว่าอาหารที่กินเข้าไปนั้น ร่างกายได้แสดงปฏิกิริยาไม่ต้อนรับออกมาแล้ว โดยแสดงอาการต่างๆ เช่น เกิดอาการชาที่ลิ้น บวม ร้อน หรือเป็นลมพิษ ซึ่งเป็นการแสดงอาการแพ้ทางผิวหนัง ทั้งนี้เนื่องจากร่างกายถูกกระตุ้นจากอาหารที่เรากินเข้าไปทำให้เม็ดเลือดขาวปล่อยสารชนิดหนึ่งออกมาที่เรียกว่า “ฮิสตามีน” ซึ่งจะไปกระตุ้นให้หลอดเลือดขยายตัว จึงมีการโป่งพองและมีอาการบวมร้อนในบริเวณต่างๆ ของร่างกาย

ถ้าสังเกตอีกสักนิดจะพบว่า การแพ้อาหารนี้ส่วนใหญ่จะเกิดในครอบครัวซึ่งมีประวัติของการแพ้ ไม่ว่าจะเป็นแพ้อากาศ แพ้ฝุ่นละออง หรือเป็นหอบหืด ก็จะทำให้เกิดอาการแพ้อาหารได้ง่ายขึ้นตามไปด้วย แต่การแพ้อาหารก็สามารถเกิดได้เป็นครั้งคราว แม้ไม่เคยแพ้อาหารชนิดนั้นๆ มาก่อนก็ตาม อาหารส่วนใหญ่ที่พบว่าทำให้เกิดการแพ้ขึ้น ได้แก่ อาหารทะเล ถั่วลิสง ช็อกโกแลต และบางรายอาจแพ้ไข่ ซึ่งก็พบไม่บ่อยนัก

รู้ได้อย่างไรว่าแพ้

คนบางคนเมื่อกินอาหารทะเลเข้าไปเพียงปลายลิ้นสัมผัส ก็มีผื่นขึ้นเต็มตัว คนบางคนอาจกินปลาดิบ แล้วอาการปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือบางคนอาจกินช็อกโกแลตเกิดอาการไอ หอบ อาการเหล่านี้จัดเป็นการแพ้ อาหารที่ร่างกายได้แสดงปฏิกิริยาออกมา ซึ่งสามารถแสดงออกได้จากหลายระบบของร่างกาย แต่ที่พบมากและพบบ่อยที่สุด ได้แก่

  • อาการแพ้ที่แสดงออกทางผิวหนังที่ชัดที่สุด คือ เป็นลมพิษ โดยจะมีผื่นขึ้นมาและรู้สึกคันๆ ที่ผิวหนัง พอสักพักก็จะมีอาการบวม ผิวหนังนูนขึ้นมาเป็นแผ่นๆ และรู้สึกแสบร้อนซื่งไม่ใช่การอักเสบ แต่เป็นการแพ้อาหาร
  • อาการแพ้ที่แสดงออกทางระบบทางเดินอาหาร ก็จะเริ่มตั้งแต่ปาก คอ ค่อยๆ เลื่อยลงไปถึงกระเพาะและลำไส้เลยทีเดียว ส่วนการแพ้ก็จะมีอาการปากบวม น้ำลายไหลตลอดเวลา รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน และบางรายมีอาการปวดท้องร่วมด้วย
  • อาการแพ้ที่แสดงออกทางระบบทางเดินหายใจ ก็จะพบบ่อยเช่นกัน คือ จะมีอาการไอบางรายรุนแรงมาก คือ ไอมากจนมีอาการหอบ และถ้าหอบมากๆ ก็จะมีอาการตัวเขียวอาจถึงขั้นเป็นลมหมดสติได้

สำหรับการแพ้อาหารในเด็กก็มีอาการในลักษณะเดียวกัน ซึ่งความจริงแล้ว การแพ้อาหารก็มักจะเกิดขึ้นกับเด็กอยู่แล้วโดยเฉพาะเด็กทารกที่อายุต่ำกว่า 3 เดือน เนื่องจากการย่อยอาหารทุกชนิดยังทำได้ไม่สมบูรณ์นัก เมื่ออาหารบางส่วนที่ย่อยไม่สมบูรณ์ผ่านเข้าไปในกระแสเลือด จะไปกระตุ้นให้เม็ดเลือดขาวเกิดอาการแพ้ขึ้น อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการแพ้ ก็คือ การที่เด็กไม่มีโอกาสกินนมแม่ โดยเฉพาะในระยะ 1 เดือนแรก ทำให้เด็กมีอาการแพ้ง่ายขึ้น ซึ่งในบางรายก็ทำให้แพ้อาหารในเวลาต่อมา หรือบางรายก็แพ้ฝุ่นละอองหรือเป็นภูมิแพ้ไปเลย

รักษาได้อย่างไร

เมื่อเกิดอาการแพ้อาหารควรทำอย่างไรดี การรักษาตรงๆ ไปเลยนั้นยังไม่สามารถทำได้ แต่ที่รักษากันอยู่ในปัจจุบัน ก็คือ การรักษาตามอาการ ถ้ามีอาการแพ้ทางผิวหนัง ก็กินยาแก้แพ้ ซึ่งเป็นยาต้านสารฮิสตามีน หรือที่เรียกว่า ยาแอนติฮิสตามีน และที่นิยมใช้อย่างแพร่หลาย ก็คือ ยาคลอร์เฟนิรามีนขององค์การเภสัชกรรม ซึ่งกินเพียง 1 เม็ด อาการแพ้ก็จะดีขึ้น แต่ถ้ารู้สึกคันมากหรือเป็นลมพิษ ก็ใช้คาลาไมน์โลชั่นทาให้ทั่ว หรือถ้าอาการรุนแรงถึงขนาดหอบมากๆ เป็นหอบหืด ท้องเสีย หรืออาเจียน ก็ต้องรีบไปรักษากับแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยด่วน

แต่วิธีป้องกันอาการแพ้อาหารน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงสูงในการแพ้ นั่นก็คือ การหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้ ถ้าจะลองก็ต้องลองชิ้นเล็กๆ หรือลองแตะๆ ที่ลิ้นซึ่งในขณะเดียวกันนั้นจะต้องเตรียมยาแก้แพ้ไว้ด้วย เพราะถ้ามีอาการรุนแรงตามมาก็จะต้องรีบกินยาทันทีหรือถ้าไม่สามารถควบคุมอาการหรือเป็นมาก ก็ควรไปพบแพทย์

เมื่อทราบอย่างนี้แล้วเวลาออกต่างจังหวัดหรือไปพักผ่อนตามที่ต่างๆ ก็ควรเตรียมยาแก้แพ้จำพวกแอนติฮิสตามีนและคาลาไมน์โลชั่นไปด้วย ไม่เช่นนั้นก็อาจหมดสนุกในการพักผ่อนได้ 

ที่มา : มูลนิธิหมอชาวบ้าน

: Thaihealth.or.th

NEU สรุป ข้อควรรู้เกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์


เครดิตภาพ:Thinkstock

1.อัลไซเมอร์เป็นโรค ไม่ใช่ภาวะสมองเสื่อมตามธรรมชาติ หรือตามอายุที่มากขึ้น
2.สาเหตุยังไม่ทราบชัด แต่น่าจะมีส่วนจากพันธุกรรม อาจมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย ดังนั้นสามารถเกิดได้กับทุกคน
3.ขณะนี้ ยังไม่สามารถป้องกัน และไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
4.การดูแล ความเห็นอกเห็นใจ และความเข้าใจ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการดูแลผู้ป่วย
5.ถ้ามีญาติที่เริ่มมีอาการหลงลืม ควรพบแพทย์ระบบประสาท อาจเป็นสาเหตุอื่นที่รักษาหายขาดได้
6.โรคนี้มักเกิดในผู้สูงอายุ ดังนั้น ผู้ที่รู้สึกว่าหลงลืมบ่อยโดยที่อายุไม่มาก (20-50 ปี) มักเกิดจากสาเหตุอื่น ส่วนมากเกิดจากการพักผ่อนไม่พอ เครียด ไม่มีสมาธิ ควรแก้ไขสิ่งเหล่านี้ ถ้าไม่ดีขึ้นค่อยปรึกษาแพทย์ เพราะมักเป็นสาเหตุที่รักษาให้หายขาดได้
7.อาการเตือน 7 ประการว่าจะเป็นโรคอัลไซเมอร์ ได้แก่

-ถามคำถามหรือพูดซ้ำๆ
-เล่าเรื่องซ้ำ
-ไม่สามารถทำในสิ่งที่เคยทำได้ เช่นการหุงข้าว การใช้เครื่องซักผ้า การใช้ไมโครเวฟ การเล่นไพ่
-ไม่สามารถชำระเงินตามใบเสร็จหรือซื้อของตามรายการ
-จำสิ่งแวดล้อมไม่ได้ ไว้ของผิดที่ เช่นวางกุญแจในตู้เย็น
-ไม่แปรงฟัน ไม่อาบน้ำ
-ต้องพึ่งพาผู้อื่นในการตัดสินใจหรือตอบคำถามซึ่งก่อนหน้านี้ทำได้

8.เนื่องจากยังไม่มีการวินิจฉัยที่แน่นอนการวินิจฉัยจะอาศัยหลัก 3ประการ
-มีอาการสมองเสื่อม อาการจะเริ่มจากความจำเสื่อม การเรียนรู้เสียไป
-อาการของโรคจะดำเนินต่อเนื่องไม่หาย
-ต้องแยกภาวะหรือโรคอื่นที่ทำให้เกิดอาการสมองเสื่อม
9.ไม่ควรกลัวโรคนี้จนเกินไป เนื่องจากขณะนี้มีการวิจัยเรื่องนี้มากมายทั่วโลก เชื่อว่าอีกไม่นานนัก อาจมียาที่รักษาหรือป้องกันได้
10.ในทางการแพทย์ ยังไม่แนะนำให้ทานยาใดๆเพื่อป้องกัน เพราะมักไม่ได้ผล และยาหรือสมุนไพรหรืออาหารเสริมเหล่านี้ส่วนมากมีราคาแพง และมักโฆษณาเกินความจริง

เครดิต:Siamhealth.com

เดินหน้ารร.สร้างสุขผู้สูงอายุ พัฒนาคุณภาพชีวิต

ที่มา: สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์

มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยคณะพยาบาลศาสตร์ จัดโครงการโรงเรียนสร้างสุขผู้สูงอายุ รุ่นที่ 3 นำไปสู่การบูรณาการด้านการเรียนการสอน สร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ มีความรู้ทักษะทั้งด้านวิชาการและการใช้สื่อการเรียนรู้ที่ทันสมัยไปใช้ในการดูแลสุขภาพเกิดคุณค่าและความภาคภูมิใจของผู้สูงอายุ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สงวน ธานี คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ เป็นประธานเปิดโครงการ มีผู้สูงอายุในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เข้าร่วมจำนวนกว่า 200 คน กำหนดจัดโครงการระหว่างวันที่ 18 กรกฎาคม 2560 ถึงวันที่ 2 กันยายน 2560 ณ หน่วยงานทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สงวน ธานี คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) แล้ว การเป็นสังคมที่มีประชากรสูงอายุจำนวนมาก ประกอบกับการพัฒนาที่เน้นคุณภาพคนเป็นศูนย์กลาง มีการเตรียมความพร้อมของระบบการดูแลผู้สูงอายุให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของผู้สูงอายุ เพื่อคงความสามารถของผู้สูงอายุ และส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นสังคมผู้สูงอายุที่มีคุณภาพและมีความผาสุก เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศได้ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จึงได้จัดทำโครงการโรงเรียนสร้างสุขผู้สูงอายุ ในครั้งนี้ขึ้น นับเป็นการบูรณาการบริการวิชาการแก่สังคมกับการเรียนการสอนในรายวิชาฝึกปฏิบัติการพยาบาลผู้สูงอายุ ของนักศึกษา ในการเรียนรู้จากสถานการณ์จริง มีทักษะในการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุอย่างเป็นองค์รวม เกิดคุณค่าและความภาคภูมิใจ มีความรู้ทักษะทั้งด้านวิชาการและการใช้สื่อการเรียนรู้ที่ทันสมัยไปใช้ในการดูแลสุขภาพของตนเอง มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง สุขภาพจิตที่สดใส มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม อนุรักษ์และถ่ายทอดวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น ผู้สูงอายุได้นำความรู้และความสุขที่ได้รับจากโรงเรียนนำไปใช้ประโยชน์ในชุมชน โดยการเป็นแกนนำกลุ่มในการให้ความรู้และส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุวัยเดียวกัน เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ในการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว มีรูปแบบการดูแลผู้สูงอายุที่เข้มแข็ง พัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ การสร้างภาคีเครือข่าย การทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย องค์กรท้องถิ่น และทีมสุขภาพในพื้นที่ การบูรณาการงานด้านผู้สูงอายุ ในการร่วมพัฒนางานเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุ อย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรมอีกด้วย
ด้าน อาจารย์สาวิตรี สิงหาด หัวหน้าโครงการ กล่าวถึงกิจกรรมในโครงการ ซึ่งมีการถ่ายทอดความรู้ทักษะทั้งด้านวิชาการ การใช้สื่อการเรียนรู้ที่ทันสมัย ให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อการติดต่อสื่อสารเรียนรู้การใช้คอมพิวเตอร์ แท็ปเล็ตหรือ สมาร์ทโฟน ลดช่องว่างระหว่างวัย เรียนรู้ข่าวสารต่างๆ จากโลกอินเตอร์เน็ตไปใช้ในการดูแลสุขภาพ ส่งเสริมสุขภาพที่ดีของผู้สูงอายุทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคมและจิตวิญญาณของผู้สูงอายุ มีกิจกรรมนันทนาการ ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ได้พบประสบการณ์ใหม่ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีคุณค่าและความภาคภูมิใจในตนเอง สามารถนำความรู้มาใช้ประโยชน์ต่อตนเองและสังคม มุ่งสู่เป้าหมาย “รู้จริง ปฏิบัติได้ ถ่ายทอดเป็น” รวมไปถึงการบูรณาการการจัดการเรียนการสอน การสร้างเครือข่ายการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ภายใต้แนวคิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน จากหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยให้มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมและบริการสำหรับผู้สูงอายุ และเชื่อมโยงคนทุกวัยให้ได้รับประโยชน์จากการดำเนินงานโรงเรียนผู้สูงอายุอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรมต่อไป

รักษาโรคด้วย ‘ดนตรี’ ก็ได้หรือ?

เรื่องโดย : กิดานัล กังแฮ Team Content www.thaihealth.or.th

           หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องของ “ดนตรีบำบัด” กันมาบ้างแล้ว จากงานวิจัยหลายชิ้นที่ระบุว่า ดนตมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายเรื่อง ทั้งลดความเจ็บปวด ลดความเครียด นอนไม่หลับ ตลอดจนควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจได้เลยทีเดียว ว่าแต่ที่ว่ารักษาโรคต่างๆ ได้นั้น จะจริงหรือเท็จอย่างไร วันนี้มีคำตอบค่ะ

จากบทพระราชนิพนธ์ตอนหนึ่งทางด้านดนตรี ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ว่า “ ชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก” มีความสำคัญต่อมนุษย์มายาวนาน ทั้งในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคอริสโตเติล และเพลโต ในสมัยสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง แพทย์ได้ว่าจ้างนักดนตรีมาช่วยในการรักษาฟื้นฟูสภาพกายและใจของเปล่าทหารผ่านศึก หลังจากจากนั้นดนตรีบำบัดได้มีความก้าวหน้าจนถึงปัจจุบันรักษาโรคด้วย ‘ดนตรี’ ก็ได้หรือ? thaihealth
“เสียงดนตรีเป็นเสียงที่มีความพิเศษ และน่าอัศจรรย์มาก เพราะนอกจากจะเป็นเสียงที่ทำให้ผ่อนคลายและแสดงอารมณ์ต่างๆ ได้แล้วยังช่วยในเรื่องของการรักษาทั้งด้านจิตใจ และร่างกาย” ดร.สุขพัชรา ซิ้มเจริญ ศึกษานิเทศก์ผู้เชี่ยวชาญพิเศษทางด้านสมอง กล่าวในกิจกรรม “ดนตรี” มีผลต่อการพัฒนาสมอง ร่างกาย จิตใจ อารมณ์ได้อย่างไร ณ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส.
ดร.สุขพัชรา ให้ข้อมูลว่า จังหวะของเครื่องดนตรีมีผลต่อสมองต่างกัน เช่น ดนตรีจังหวะช้า ช่วยกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ ส่งผลให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ จิตผ่อนคลาย เกิดการจดจำได้ดี ในขณะที่ ดนตรีจังหวะเร็ว จะทำให้รู้สึกตื่นตัว และสนุกนานจะกระตุ้นอารมณ์และสมองให้แจ่มใส มีความสุข
ทั้งนี้ จังหวะดนตรีที่เหมาะสมควรมีจังหวะ 70-80 ครั้ง/นาที = การเต้นของหัวใจ เป็นจังหวะที่พอดีทำให้สมองหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน (Endorphin) หรือสารแห่งความสุขออกมา ทำให้เรามีความสดชื่น มีความตื่นตัว แจ่มใส มีบุคลิกภาพที่ดีมีความสุข ทำให้การทำงานของระบบต่าง ๆ ของร่างกายเป็นไปตามปกติ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแข็งแรง
สำหรับเรื่องการนำดนตรีมาใช้รักษาความเจ็บป่วย ได้มีการศึกษาค้นคว้าวิจัยอย่างจริงจังกว่า 50 ปี โดย Buckwalter et.al 1985 พบว่า ดนตรีมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกายและจิตใจของมนุษย์ สามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์เรื่อง ลดความกังวล ความกลัว เพิ่มการเคลื่อนไหว สร้างแรงจูงใจ ผ่อนคลาย จูงใจให้เกิดสติได้ ในขณะที่ Munro and Mount 1986 ได้ศึกษาตัวอย่างผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะสุดท้ายอายุ 15 ปี ซึ่งเผชิญกับอาการปวด พบว่า การใช้ดนตรีสามารถลดความกังวลของผู้ป่วยได้ แต่ก็ยังสรุปได้ไม่ชัดเจนเรื่องของการลดความเจ็บปวด และความทุกข์ทรมานจากความปวดจากโรค
ด้าน จิรภี สุนทรกุลณชลบุร 2003 ได้ศึกษาผลของดนตรีบำบัดต่อการลดความกังวล และความเจ็บปวดในผู้ป่วยมะเร็ง พบว่า ดนตรีสามารถลดความกังวลในผู้ป่วยได้ แต่ยังสรุปไม่ได้เรื่องการลดความปวดเช่นเดียวกันกับ Munro and Mount

ลักษณะของดนตรีบำบัดควรเป็นแบบไหน
(ข้อมูลจาก : คู่มือดนตรีเพื่อพัฒนากายและใจ โครงการพัฒนาสุขภาวะและคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังผู้หญิงด้วยกิจกรรมทางกายและใจในชีวิตประจำวัน สำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส.)

1. ควรเป็นเพลงบรรเลง ไม่ควรมีเนื้อร้อง มีเสียงตามธรรมชาติ เช่น เสียงนก น้ำตก เป็นต้น
2. มีจังหวะที่ช้า มั่นคง สม่ำเสมอประมาณ 70-80 ครั้ง/นาที และมีทำนองราบเรียบ นุ่มนวล ระดับเสียงปานกลาง-ต่ำ
3. ความเข้มของเสียงไม่ดังมาก ขึ้นอยู่กับความรู้สึกของผู้ฟัง เนื่องจากความดังสามารถกระตุ้นให้มีความเจ็บปวดของผู้ป่วยให้เพิ่มมากขึ้นได้
4.ประเภทของดนตรีที่นิยมใช้ อาทิ พิณ เปียโน กีตาร์ วงออร์เคสตร้า แจ๊สแบบช้า ป๊อป คลาสสิค เป็นต้น
5.ดนตรีที่ผู้ฟังมีความคุ้นเคย และความชอบ
รักษาโรคด้วย ‘ดนตรี’ ก็ได้หรือ? thaihealth

 

7 ความมหัศจรรย์ของดนตรีบำบัด(ข้อมูลจาก : ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส.)

1. ลดความเจ็บปวดคนไข้ที่ผ่านการผ่าตัดเมื่อได้ฟังดนตรีจะลดอาการปวดและต้องการใช้ยาแก้ปวดน้อยลง

2. ทำให้เลือดลมดีฟังเพลงท่อนเพลงค่อยๆเพิ่มความดังที่ละน้อย ทำให้เส้นเลือดขยายเลือดลมเดินสะดวก

3. ควบคุมการหายใจเพลงจังหวะเร็วทำให้อัตราการหายใจ การเต้นของหัวใจ ความดันเลือดเพิ่มขึ้น

4.ช่วยให้ฟื้นตัวเร็วในทารกที่คลอดก่อนกำหนด มีการทดสอบพบว่า ดนตรีบำบัดสามารถช่วยลดจำนวนวันที่อยู่ในตู้

อบและเพิ่มน้ำหนักตัวได้

5. ชะลอชราดนตรีช่วยสร้างโกรทฮอร์โมน มีการศึกษาพบว่านักดนตรีวัย 45-65 ปี มีคามจำและประสาทการฟังดีกว่าคนที่ไม่ได้เล่น

6.ต้านซึมเศร้าช่วยลดความเครียด ความกังวล และไม่อยากอาหารของผู้ป่วยได้

7.กระตุ้นสมองการฟังดนตรีช่วยกระตุ้นสมองส่วนฮิปโปแคมปัส เพิ่มประสิทธิภาพในส่วนความจำระยะยาวของสมองดนตรีบำบัด เป็นการนำศาสตร์แห่งศิลปะมาประยุกต์ใช้ในเชิงการรักษา ซึ่งนับเป็นการค้นคว้าที่น่าสนใจถึงประสิทธิผลทางการรักษา และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยในปัจจุบันยังไม่อาจสรุปได้แน่ชัดว่าดนตรี และเสียงเพลงสามารถส่งผลทางการรักษาโรคได้จริงดังนั้น การรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงด้วยการกินอาหารที่ดีต่อร่างกาย ไม่ดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ยังคงเป็นวิธีสุดคลาสสิคที่ช่วยให้เราห่างไกลโรคได้ดีที่สุดค่ะ

ขอขอบพระคุณ: กิดานัล กังแฮ Team Content www.thaihealth.or.th

ภาคประชาสังคมเตรียมพร้อมรับมือสังคมสูงวัย

สถาบันส่งเสริมภาคประชาสัสคม (สสป.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม สมาคมบ้านปันรัก และโครงการสานพลังนโยบายส่งเสริมความเข้มแข็งขององค์กรภาคประชาสังคมเพื่อร่วมขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ ได้ร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์สาธารณะ “WE ARE CSO” ใครๆ ก็เป็นได้ เพื่อสร้างความเข้าใจบทบาทภาคประชาสังคมกับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ด้านต่างๆจะมีการดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงธันวาคม 2560 การจัดกิจกรรมครั้งที่ 1 เสนอประเด็น สังคมสูงวัย : ประชาสังคมไทยต้องช่วยกันจัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2560 ณ ลานกิจกรรมมูลนิธิบ้านอารีย์ ได้มีการเสวนา บทบาทภาคประชาสังคม ในสถานการณ์สังคมสูงวัย ผู้ร่วมเสวนา มาจากตัวแทนภาคประชาสังคม ที่ทำงานหลากหลายประเด็น เด็ก ชุมชน แรงงาน และนักวิชาการ มาร่วมเสนอมุมมอง ผ่านประเด็นงานที่เกี่ยวข้อง สรุปสาระสำคัญการเสวนาดังนี้
นางสาวสุวิมล มีแสง จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กรมหาชน) เสนอผลงานวิจัยของคณะกรรมการปฏิรูประบบรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย สภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่คาดการณ์ไว้ว่าปี พ.ศ. 2563 ประเทศไทยจะมีจำนวนประชากรผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 12 ล้านคน ส่วนจำนวนประชากรวัยแรงงานจะลดลงเหลือประมาณ 46 ล้านคน ทำให้ประชากรวัยแรงงาน 5 คน ต้องดูแลผู้สูงอายุ 1 คน จากเดิมในปี พ.ศ. 2543 ที่มีแรงงานถึง 7 คน ดูแลผู้สูงอายุเพียง 1 คน ผลจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุประชากรไปสู่สังคมสูงวัย อาจจะส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงานและฉุดรั้งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และหลายๆ ประเทศในอาเซียนก็มีแนวโน้มเข้าสู่สังคมสูงวัยเช่นกัน พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า “เราจะต้องเร่งร่วมกันออกแบบสังคมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย ในอนาคตต้องเป็นคนแก่ที่มีคุณภาพ” นายเรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป จากมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก เห็นว่าจากการทำงานกับ เด็ก มาเป็นเวลากว่า 30 ปี นั้นพบว่าหากพ่อแม่มีความคิดติดลบมาตั้งแต่เริ่มรู้ว่าตั้งครรภ์ ก็จะส่งผลต่อเด็กก็จะส่งผลกระทบต่อเด็กไปด้วย พ่อแม่ต้องคิดบวก ไม่คิดว่าลูกเป็นภาระ เด็กจะดีได้ถ้าความสัมพันธ์ที่ดีในบ้าน และอย่าคาดหวังว่าเด็กจะต้องเป็นอย่างที่เราต้องการ เช่นคำว่า “รักให้รอด รักให้แข็งแรง” ในฐานะภาคประชาสังคมคนหนึ่งก็อยากจะให้ทุกครอบครัวมีการวางแผนการตั้งครรภ์และวางแผนการดูแลเด็กให้เติบโตมาอย่างมีคุณภาพ
นางอรุณี ศรีโต นักกิจกรรมสูงวัยที่ทำงานเพื่อสังคม เล่าว่าแรงงานไทยในปัจจุบัน ทั้งในระบบและนอกระบบ ต้องรับภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้นทั้งในครอบครัวและสังคม รัฐต้องสร้างการเป็นหุ้นส่วนกับภาคประชาสังคม ในการแก้ปัญหาระบบประกันสุขภาพ สร้างวินัยการออมตั้งแต่วัยเด็ก การดูแลสุขภาพ มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และรัฐบาลต้องตั้งเรื่อง “สังคมสูงวัย” เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้ผู้สูงวัยต้องเป็นผู้สูงวัยที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
ในขณะที่ ผศ.ดร.วีรณัฐ โรจนประภา นักวิชาการด้านผู้สูงวัย (นายกสมาคมบ้านปันรัก) ได้ให้ข้อเสนอว่า การแก้ปัญหาควรเริ่มจากกลุ่มคน ได้รวมตัวกันสร้างความอบอุ่น ความเข้มแข็งเพื่อสร้างชุมชนสวัสดิการร่วมกัน
สรุปผลการเสวนา ในสถานการณ์ที่ประเทศไทย ก้าวสู่สังคมสูงวัย การทำงานแบบร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการพัฒนาประเทศ จะทำให้เกิดความสำเร็จในงาน ความร่วมมือกับ ภาคประชาสังคม เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ และกลายเป็นเป้าหมายร่วมกันที่องค์การสหประชาชาติบรรจุเป็น 1 ใน 17 เป้าหมายพัฒนาที่ยั่งยืน และในครั้งต่อไปสถาบันส่งเสริมภาคประชาสังคมจะไปจัดเวที WE ARE CSO ใครๆก็เป็นได้ ที่ไหน ประเด็กอะไร สามารถติดตามได้ที่ เพจไทยแอ็ค หรือ www.thaicivilsociety.com

ที่มา:ไทยโพสต์