ภาคประชาสังคมเตรียมพร้อมรับมือสังคมสูงวัย

สถาบันส่งเสริมภาคประชาสัสคม (สสป.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม สมาคมบ้านปันรัก และโครงการสานพลังนโยบายส่งเสริมความเข้มแข็งขององค์กรภาคประชาสังคมเพื่อร่วมขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ ได้ร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์สาธารณะ “WE ARE CSO” ใครๆ ก็เป็นได้ เพื่อสร้างความเข้าใจบทบาทภาคประชาสังคมกับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ด้านต่างๆจะมีการดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงธันวาคม 2560 การจัดกิจกรรมครั้งที่ 1 เสนอประเด็น สังคมสูงวัย : ประชาสังคมไทยต้องช่วยกันจัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2560 ณ ลานกิจกรรมมูลนิธิบ้านอารีย์ ได้มีการเสวนา บทบาทภาคประชาสังคม ในสถานการณ์สังคมสูงวัย ผู้ร่วมเสวนา มาจากตัวแทนภาคประชาสังคม ที่ทำงานหลากหลายประเด็น เด็ก ชุมชน แรงงาน และนักวิชาการ มาร่วมเสนอมุมมอง ผ่านประเด็นงานที่เกี่ยวข้อง สรุปสาระสำคัญการเสวนาดังนี้
นางสาวสุวิมล มีแสง จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กรมหาชน) เสนอผลงานวิจัยของคณะกรรมการปฏิรูประบบรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย สภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่คาดการณ์ไว้ว่าปี พ.ศ. 2563 ประเทศไทยจะมีจำนวนประชากรผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 12 ล้านคน ส่วนจำนวนประชากรวัยแรงงานจะลดลงเหลือประมาณ 46 ล้านคน ทำให้ประชากรวัยแรงงาน 5 คน ต้องดูแลผู้สูงอายุ 1 คน จากเดิมในปี พ.ศ. 2543 ที่มีแรงงานถึง 7 คน ดูแลผู้สูงอายุเพียง 1 คน ผลจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุประชากรไปสู่สังคมสูงวัย อาจจะส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงานและฉุดรั้งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และหลายๆ ประเทศในอาเซียนก็มีแนวโน้มเข้าสู่สังคมสูงวัยเช่นกัน พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า “เราจะต้องเร่งร่วมกันออกแบบสังคมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย ในอนาคตต้องเป็นคนแก่ที่มีคุณภาพ” นายเรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป จากมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก เห็นว่าจากการทำงานกับ เด็ก มาเป็นเวลากว่า 30 ปี นั้นพบว่าหากพ่อแม่มีความคิดติดลบมาตั้งแต่เริ่มรู้ว่าตั้งครรภ์ ก็จะส่งผลต่อเด็กก็จะส่งผลกระทบต่อเด็กไปด้วย พ่อแม่ต้องคิดบวก ไม่คิดว่าลูกเป็นภาระ เด็กจะดีได้ถ้าความสัมพันธ์ที่ดีในบ้าน และอย่าคาดหวังว่าเด็กจะต้องเป็นอย่างที่เราต้องการ เช่นคำว่า “รักให้รอด รักให้แข็งแรง” ในฐานะภาคประชาสังคมคนหนึ่งก็อยากจะให้ทุกครอบครัวมีการวางแผนการตั้งครรภ์และวางแผนการดูแลเด็กให้เติบโตมาอย่างมีคุณภาพ
นางอรุณี ศรีโต นักกิจกรรมสูงวัยที่ทำงานเพื่อสังคม เล่าว่าแรงงานไทยในปัจจุบัน ทั้งในระบบและนอกระบบ ต้องรับภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้นทั้งในครอบครัวและสังคม รัฐต้องสร้างการเป็นหุ้นส่วนกับภาคประชาสังคม ในการแก้ปัญหาระบบประกันสุขภาพ สร้างวินัยการออมตั้งแต่วัยเด็ก การดูแลสุขภาพ มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และรัฐบาลต้องตั้งเรื่อง “สังคมสูงวัย” เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้ผู้สูงวัยต้องเป็นผู้สูงวัยที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
ในขณะที่ ผศ.ดร.วีรณัฐ โรจนประภา นักวิชาการด้านผู้สูงวัย (นายกสมาคมบ้านปันรัก) ได้ให้ข้อเสนอว่า การแก้ปัญหาควรเริ่มจากกลุ่มคน ได้รวมตัวกันสร้างความอบอุ่น ความเข้มแข็งเพื่อสร้างชุมชนสวัสดิการร่วมกัน
สรุปผลการเสวนา ในสถานการณ์ที่ประเทศไทย ก้าวสู่สังคมสูงวัย การทำงานแบบร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการพัฒนาประเทศ จะทำให้เกิดความสำเร็จในงาน ความร่วมมือกับ ภาคประชาสังคม เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ และกลายเป็นเป้าหมายร่วมกันที่องค์การสหประชาชาติบรรจุเป็น 1 ใน 17 เป้าหมายพัฒนาที่ยั่งยืน และในครั้งต่อไปสถาบันส่งเสริมภาคประชาสังคมจะไปจัดเวที WE ARE CSO ใครๆก็เป็นได้ ที่ไหน ประเด็กอะไร สามารถติดตามได้ที่ เพจไทยแอ็ค หรือ www.thaicivilsociety.com

ที่มา:ไทยโพสต์