เดินหน้ารร.สร้างสุขผู้สูงอายุ พัฒนาคุณภาพชีวิต

ที่มา: สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์

มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยคณะพยาบาลศาสตร์ จัดโครงการโรงเรียนสร้างสุขผู้สูงอายุ รุ่นที่ 3 นำไปสู่การบูรณาการด้านการเรียนการสอน สร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ มีความรู้ทักษะทั้งด้านวิชาการและการใช้สื่อการเรียนรู้ที่ทันสมัยไปใช้ในการดูแลสุขภาพเกิดคุณค่าและความภาคภูมิใจของผู้สูงอายุ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สงวน ธานี คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ เป็นประธานเปิดโครงการ มีผู้สูงอายุในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เข้าร่วมจำนวนกว่า 200 คน กำหนดจัดโครงการระหว่างวันที่ 18 กรกฎาคม 2560 ถึงวันที่ 2 กันยายน 2560 ณ หน่วยงานทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สงวน ธานี คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) แล้ว การเป็นสังคมที่มีประชากรสูงอายุจำนวนมาก ประกอบกับการพัฒนาที่เน้นคุณภาพคนเป็นศูนย์กลาง มีการเตรียมความพร้อมของระบบการดูแลผู้สูงอายุให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของผู้สูงอายุ เพื่อคงความสามารถของผู้สูงอายุ และส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นสังคมผู้สูงอายุที่มีคุณภาพและมีความผาสุก เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศได้ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จึงได้จัดทำโครงการโรงเรียนสร้างสุขผู้สูงอายุ ในครั้งนี้ขึ้น นับเป็นการบูรณาการบริการวิชาการแก่สังคมกับการเรียนการสอนในรายวิชาฝึกปฏิบัติการพยาบาลผู้สูงอายุ ของนักศึกษา ในการเรียนรู้จากสถานการณ์จริง มีทักษะในการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุอย่างเป็นองค์รวม เกิดคุณค่าและความภาคภูมิใจ มีความรู้ทักษะทั้งด้านวิชาการและการใช้สื่อการเรียนรู้ที่ทันสมัยไปใช้ในการดูแลสุขภาพของตนเอง มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง สุขภาพจิตที่สดใส มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม อนุรักษ์และถ่ายทอดวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น ผู้สูงอายุได้นำความรู้และความสุขที่ได้รับจากโรงเรียนนำไปใช้ประโยชน์ในชุมชน โดยการเป็นแกนนำกลุ่มในการให้ความรู้และส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุวัยเดียวกัน เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ในการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว มีรูปแบบการดูแลผู้สูงอายุที่เข้มแข็ง พัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ การสร้างภาคีเครือข่าย การทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย องค์กรท้องถิ่น และทีมสุขภาพในพื้นที่ การบูรณาการงานด้านผู้สูงอายุ ในการร่วมพัฒนางานเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุ อย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรมอีกด้วย
ด้าน อาจารย์สาวิตรี สิงหาด หัวหน้าโครงการ กล่าวถึงกิจกรรมในโครงการ ซึ่งมีการถ่ายทอดความรู้ทักษะทั้งด้านวิชาการ การใช้สื่อการเรียนรู้ที่ทันสมัย ให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อการติดต่อสื่อสารเรียนรู้การใช้คอมพิวเตอร์ แท็ปเล็ตหรือ สมาร์ทโฟน ลดช่องว่างระหว่างวัย เรียนรู้ข่าวสารต่างๆ จากโลกอินเตอร์เน็ตไปใช้ในการดูแลสุขภาพ ส่งเสริมสุขภาพที่ดีของผู้สูงอายุทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคมและจิตวิญญาณของผู้สูงอายุ มีกิจกรรมนันทนาการ ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ได้พบประสบการณ์ใหม่ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีคุณค่าและความภาคภูมิใจในตนเอง สามารถนำความรู้มาใช้ประโยชน์ต่อตนเองและสังคม มุ่งสู่เป้าหมาย “รู้จริง ปฏิบัติได้ ถ่ายทอดเป็น” รวมไปถึงการบูรณาการการจัดการเรียนการสอน การสร้างเครือข่ายการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ภายใต้แนวคิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน จากหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยให้มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมและบริการสำหรับผู้สูงอายุ และเชื่อมโยงคนทุกวัยให้ได้รับประโยชน์จากการดำเนินงานโรงเรียนผู้สูงอายุอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรมต่อไป